เกี่ยวกับสภาเทคนิคการแพทย์

ที่มา / ประวัติสภาเทคนิคการแพทย์

ในระยะแรกการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ต้องเป็นไปตามพระราช บัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 โดยมีคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และไม่ให้มีผู้แสวงหาผลประโยชน์หรือใช้วิชาชีพโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาต่างๆ เพื่อให้การประกอบโรคศิลปะสาขาต่างๆ เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เป็นองค์กรที่มีบทบาทควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และส่งเสริมความ ก้าวหน้า ของวิชาชีพ คณะกรรมการวิชาชีพสาขาเทคนิคการแพทย์ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาต ประกอบโรคศิลปะ สาขาเทคนิคการแพทย์ ควบคุม ส่งเสริม พัฒนาและกำหนดมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะ สาขาเทคนิคการแพทย์ การดำเนินงานของคณะกรรมการวิชาชีพสาขาเทคนิคการแพทย์ยังอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการออกพระราชบัญญัติการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ โดยพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2547* ตามพระราชบัญญัติการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 ได้มีการแยกอำนาจการควบคุมการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ออกจากอำนาจของคณะ กรรมการการประกอบโรคศิลปะ และให้มีสภาเทคนิคการแพทย์ทำหน้าที่ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพ กำหนดและควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพและควบคุมมิให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ โดยมิชอบจากบุคคลซึ่งไม่มีความรู้ อันก่อให้เกิดภัยและความเสียหายแก่ประชาชน
คณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 24 คน ดังนี้
1. กรรมการโดยตำแหน่ง 2 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายกสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย
2. กรรมการซึ่งเป็นคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์หรือคณบดีคณะที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น หรือหัวหน้าภาควิชาที่ผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ เลือกกันเองให้เหลือ 5 คน
3. กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 3 คน กระทรวงกลาโหม 1 คน และกรุงเทพมหานคร 1 คน
4. กรรมการที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากสมาชิก จำนวน 12 คน

*ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 121 ตอนพิเศษ 65 ก ลงวันที่ 22 ตุลาคม